วันนี้เราจะพา HR มือใหม่ทุกคนมาทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างกองทุนประกันสังคม และ กองทุนทดแทน แบบสรุปเข้าใจง่ายไม่งง เหมาะสำหรับ HR มือใหม่ ที่ต้องเข้ามาดูแลจัดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆ
ดังนั้นแล้ว บทความนี้จะอธิบายความแตกต่างของทั้งสองกองทุนอย่างละเอียด เพื่อให้คุณสามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างมั่นใจและถูกต้องตามกฎหมายกันค่ะ
กองทุนประกันสังคม คืออะไร?
กองทุนประกันสังคมเป็นระบบภาคบังคับภายใต้กฎหมายแรงงาน โดยเป็นการดูแลคุณภาพชีวิตลูกจ้าง โดยให้ความคุ้มครองในกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ หรือว่างงาน
หลักในการเข้าร่วมกองทุนประกันสังคม?
- นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบให้กับพนักงานทุกเดือน
- นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง(สปส. 1-01) พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง (สปส. 1-03) เป็นผู้ประกันตน ม.33 ภายใน 30 วัน หลังจากที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน
- ลูกจ้างประจำทุกคนต้องเข้าร่วมกองทุนนี้โดยอัตโนมัติ
ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเท่าไหร่?
- HR มีหน้าที่หักเงินสมทบจากค่าจ้างของลูกจ้างนำส่งในส่วนของผู้ประกันตน และส่งสมทบในฝั่งของนายจ้าง ฝั่งละ 5% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกินฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน)
ขอคืนเงินจากกองทุนประกันสังคมได้ไหม?
- ลูกจ้างสามารถขอคืนเงินสมทบได้ในกรณีที่ลาออก เพื่อขอรับเงินชดเชยจากการว่างงานหรือเกษียณอายุและมีเงื่อนไขครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยลูกจ้างต้องดำเนินการขอคืนตามขั้นตอนที่สำนักงานประกันสังคมระบุไว้
กองทุนเงินทดแทนคืออะไร?
กองทุนเงินทดแทน มีเป้าหมายหลักคือ คุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานโดยตรง ถือเป็นกองทุนที่เน้นคุ้มครองความเสี่ยงเฉพาะด้านของการทำงาน
เงินสมทบกองทุนทดแทน ใครต้องจ่ายเข้ากองทุนนี้บ้าง?
- ในกรณี ของการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนนั้น นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินแทนฝ่ายเดียว ตามอัตราเงินสมทบตามความเสี่ยงของธุรกิจ
การขอรับเงินทดแทน ทำยังไง?
- การขอคืนหรือเรียกเงินทดแทนสามารถทำได้โดยนายจ้างเป็นผู้ดำเนินการแจ้งเหตุไปที่สำนักงานประกันสังคม ในกรณีที่พนักงานได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน หรือมีการเจ็บป่วยที่เกิดจากงานเท่านั้น
สรุปข้อแตกต่าง กองทุนประกันสังคม และกองทุนทดแทน
Checklist เบื้องต้นเพื่อให้ HR มือใหม่จัดการข้อมูลได้ถูกต้อง
และเพื่อไม่ให้คุณที่เป็น HR มือใหม่พลาดเรื่องเอกสารที่ต้องจัดการในช่วงแรก และสามารถจัดการวางแผนดำเนินการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆ ได้ทันระยะเวลาที่กำหนดสามารถดำเนินการตาม Checklist นี้ได้เลย
ตรวจสอบการลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทของคุณได้ขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01) และลูกจ้าง (สปส. 1-03) กับสำนักงานประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว ภายใน 30 วันหลังจากรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน
รวบรวมข้อมูลพนักงานให้ครบถ้วน
- เตรียมข้อมูลเอกสารสำคัญของพนักงานให้ครบถ้วน ได้แก่ สำเนาสัญญาจ้างงานของพนักงาน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน แบบฟอร์มข้อมูลส่วนตัว เพื่อให้พร้อมใช้งานทันทีเมื่อจำเป็น
วางแผนกำหนดวันส่งเงินสมทบ
- ศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างละเอียด
- วางแผนกำหนดวันชำระเงินสมทบที่ชัดเจนในแต่ละเดือน เพื่อป้องกันการล่าช้าและหลีกเลี่ยงค่าปรับ
จัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ
- จัดเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ เช่น ประวัติพนักงาน เอกสารการส่งเงินสมทบ เพื่อให้พร้อมรับมือเมื่อมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามข่าวสาร
- ผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
- ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม โทร.1506
- คู่มือออนไลน์ หรือ Webinar อบรมฟรีที่สำนักงานประกันสังคมจัดให้
เพื่อนๆ HR มือใหม่ลองนำ Checklist นี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ รับรองว่าคุณจะเป็น HR มือใหม่ที่ทำงานได้อย่างมั่นใจ ไม่พลาดเรื่องเอกสาร และดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอนค่ะ
Q&A: หากบริษัทมีประกันกลุ่มอยู่แล้ว ไม่ต้องมีกองทุนทดแทนได้ไหม
คำตอบคือไม่ได้ค่ะ แม้ว่าบริษัทจะมีประกันกลุ่มอยู่แล้ว แต่ยังจำเป็นต้องมี กองทุนทดแทน อยู่ดี เนื่องจากกฎหมายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ระบุว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับทุกบริษัท โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าคุณจะมีประกันประเภทใดเพิ่มเติมก็ตาม
เหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถใช้ประกันกลุ่มทดแทนได้:
- ตามกฎหมายแรงงานไทย กองทุนเงินทดแทนมีจุดประสงค์ชัดเจน คือ คุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจากการทำงานโดยตรง ซึ่งกฎหมายบังคับนายจ้างให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนนี้เสมอ
- ประกันกลุ่ม (Group Insurance) เป็นสวัสดิการเพิ่มเติมของบริษัท ซึ่งครอบคลุมกรณีอื่นๆ เช่น เจ็บป่วยทั่วไป อุบัติเหตุนอกงาน หรือเสียชีวิตจากเหตุทั่วไป จึงไม่สามารถใช้แทนกองทุนทดแทนได้
สรุป
กองทุนประกันสังคมและกองทุนทดแทน รวมถึงประกันกลุ่ม ต่างก็มีเป้าหมายและหน้าที่เฉพาะของตัวเอง โดย HR มือใหม่จำเป็นต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทของคุณดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีฟ้องร้องจากลูกจ้างหรือค่าปรับจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับพนักงานทุกคน
Marketing สาวที่ถูกแมวส้มเก็บมาเลี้ยง