fbpx

กองทุนเงินทดแทนคืออะไร? สรุปเข้าใจง่ายเพื่อ HR มือใหม่

กองทุนเงินทดแทนคืออะไร? สรุปเข้าใจง่ายเพื่อ HR มือใหม่
กองทุนเงินทดแทน: คุ้มครองเฉพาะพนักงานประจำ, ทดลองงาน, และสัญญาจ้าง (รายเดือน/รายวัน) ที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม
หน้าที่นายจ้าง: ต้องขึ้นทะเบียนและส่งเงินสมทบทุกปี โดยอัตราจ่ายขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหกรรม (ประมาณ 0.2%-2.0% ต่อปี)
สิทธิประโยชน์สำคัญ: 
• ค่ารักษาพยาบาล สูงสุด 1,000,000 บาท
• ค่าทดแทนรายเดือน 70% ของค่าจ้าง (หากหยุดงาน)
• ค่าทุพพลภาพหรือเสียชีวิต จ่ายเงินทดแทนสูงสุดนาน 10 ปี
HR ต้องดำเนินการ: ขึ้นทะเบียนพนักงานภายใน 30 วัน หลังจ้างงาน ผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม
หากคุณเป็น HR มือใหม่ และยังไม่เข้าใจเรื่องกองทุนเงินทดแทน บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจทุกเรื่องสำคัญเกี่ยวกับ กองทุนเงินทดแทน ไม่ว่าจะเป็นหลักการจ่ายเงินทดแทน หากเมื่อพนักงานได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน HR และนายจ้างต้องรู้ว่าต้องจ่ายเงินทดแทนอย่างไร สิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่ครอบคลุม ถ้าพนักงานได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

ยาวไป เลือกอ่านก็ได้นะ (Table of Contents)

กองทุนเงินทดแทนคืออะไร?

กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุ จากการทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุน และสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนนี้ หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ

  • เป็นกองทุนที่นายจ้างต้องจ่าย เพื่อให้พนักงานได้รับเงินช่วยเหลือหากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการทำงาน
  • ช่วยลดภาระนายจ้าง เพราะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือค่าชดเชยเอง
  • ครอบคลุมพนักงานทุกประเภท ทั้งพนักงานประจำ พนักงานทดลองงาน และพนักงานสัญญาจ้าง

ลูกจ้างประเภทใดบ้างที่ได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน?

  • พนักงานประจำทุกคนที่มีนายจ้าง
  • พนักงานทดลองงาน (หากขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนแล้ว)
  • พนักงานสัญญาจ้างรายปี รายเดือน รายวัน

หมายเหตุ: ฟรีแลนซ์และผู้รับจ้างอิสระไม่อยู่ในขอบเขตความคุ้มครองของกองทุนนี้

กองทุนเงินทดแทนครอบคลุมธุรกิจประเภทใดบ้าง?

กองทุนเงินทดแทนนั้นครอบคลุม ธุรกิจทุกประเภทที่มีการจ้างแรงงาน ไม่ว่าธุรกิจจะเป็น อุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจขนาดเล็ก หากมีการจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน

  • อุตสาหกรรมการผลิต เช่น โรงงานอุตสาหกรรม, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, เครื่องจักรกล
  • ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เช่น งานก่อสร้างอาคาร, ถนน, สะพาน
  • ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้าทั่วไป
  • ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร เช่น โรงแรม, ร้านอาหาร, ร้านกาแฟ
  • ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง เช่น บริษัทขนส่งสินค้า, ขับรถรับส่งพนักงาน
  • ธุรกิจบริการและสำนักงาน เช่น บริษัทให้คำปรึกษา, Call Center, งานออฟฟิศทั่วไป
  • ธุรกิจการแพทย์และสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล, คลินิก, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
  • ธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ เช่น บริษัทซอฟต์แวร์, ธุรกิจออนไลน์, อีคอมเมิร์ซ

ใครต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนบ้าง?

ใครต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนบ้าง?
ในกรณีนี้ นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินแทนฝ่ายเดียว โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่มีพนักงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบให้กองทุนเงินทดแทนเป็นประจำทุกปี

อัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินแทน ต้องจ่ายเท่าไหร่

เงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจะถูกกำหนดตาม อัตราความเสี่ยงของธุรกิจ โดยอุตสาหกรรมที่มี ความเสี่ยงสูง ต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน จ่ายสูงสุด (1.5% – 2.0%) ซึ่งจะมีอัตราเงินสมทบสูงกว่าธุรกิจที่มี ความเสี่ยงต่ำ ที่จ่ายต่ำสุด เพียง(0.2%)

ตารางอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน แบ่งตามความเสี่ยงของอุตสาหกรรม

อัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน

ตัวอย่าง สูตรการคำนวณเงินสมทบ (ค่าจ้างพนักงานทั้งหมดต่อปี) × (อัตราเงินสมทบของอุตสาหกรรม)

  • บริษัทมีพนักงาน 5 คน เงินเดือนคนละ 20,000 บาท
  • ค่าจ้างทั้งหมดต่อปี = 5 × 20,000 × 12 = 1,200,000 บาท
  • หากอัตราเงินสมทบของอุตสาหกรรมคือ 0.2%
  • เงินสมทบที่ต้องจ่าย = 1,200,000 × 0.002 = 2,400 บาท/ปี

หมายเหตุ: อัตราเงินสมทบของแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของงาน

ตรวจสอบอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน รายการประเภทกิจการเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kutchumpattana.go.th/upload/inset/20180206120801_PNP.pdf

กองทุนเงินทดแทน ครอบคลุมกรณีไหนบ้าง?

สิทธิประโยชน์ที่พนักงานได้รับจากกองทุนเงินทดแทน ครอบคลุมกรณีไหนบ้าง

ค่ารักษาพยาบาล (ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุในการทำงาน)

  • พนักงานสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุในการทำงานได้ สูงสุด 1,000,000 บาท
  • ครอบคลุมค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ

ค่าทดแทนรายเดือน (กรณีหยุดงานเกิน 3 วัน)

  • จ่ายเป็นรายเดือน เท่ากับ 70% ของค่าจ้างรายเดือน
  • ได้รับเงินสูงสุด ไม่เกิน 12 เดือน

ตัวอย่าง:

  • พนักงานเงินเดือน 20,000 บาท
  • ค่าทดแทนที่ได้รับ = 20,000 × 70% = 14,000 บาทต่อเดือน
  • หากหยุดงาน 3 เดือน = 14,000 × 3 = 42,000 บาท

ค่าทุพพลภาพ (หากสูญเสียอวัยวะหรือความสามารถในการทำงานลดลง)

  • ได้รับค่าทดแทน สูงสุด 70% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาตามระดับความพิการ

ตัวอย่าง:

  • สูญเสียมือข้างหนึ่ง ได้รับค่าทดแทน 10 ปี
  • เงินเดือน 20,000 บาท → ได้รับ 14,000 บาท × 120 เดือน = 1,680,000 บาท

ค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัว (กรณีเสียชีวิตจากการทำงาน)

  • ค่าทำศพ 50 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ (ประมาณ 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด)
  • เงินสงเคราะห์ครอบครัว 70% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 10 ปี

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน ทำยังไง

HR มือใหม่ต้องรู้ ว่าการขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนให้แก่พนักงาน ต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน หลังจากรับพนักงานเข้าทำงาน หากไม่ดำเนินการตามกำหนด อาจถูกปรับทางกฎหมาย โดย HR มือใหม่อย่างคุณสามารถดำเนินการผ่านระบบ e-wage สามารถไปที่เว็บไซต์ SSO E-SERVICE>> https://www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp

ซึ่งเป็นระบบริการออนไลน์ของของสำนักงานประกันสังคม นายจ้างสามารถยื่น กท.20 ก (กท. 20 ก คือแบบแสดงเงินค่าจ้างประจำปีของกองทุนเงินทดแทน) ผ่านระบบอนไลน์ เพื่อเป็นการบันทึกรายงานค่าจ้างประจำปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ตัวเลขค่าจ้างรายวัน/รายเดือนของลูกจ้างที่ได้รับต่ำสุดในปีที่ผ่านมา
  • จำนวนลูกจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ผ่านมา ค่าจ้างสุทธิที่ต้องแจ้งเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน/คน รวมยอดของลูกจ้างทุกคนตลอดทั้งปี

เมื่อกรอกข้อมูลและบันทึกเรียบร้อยแล้ว ระบบจะคำนวณเงินสมทบที่นายจ้างต้องทำการจ่ายเพิ่มและสร้างใบแจ้งเงินสมทบจากการรายงานค่าจ้างประจำปี กองทุนเงินทดแทน กท. 26 ค พร้อมใบ pay-in เพื่อให้นายจ้างนำไปชำระส่วนต่างเงินสมทบ (ถ้ามี) ภายในวันที่ 31 มีนาคม

และหากมีการรับลูกจ้างเข้ามาใหม่ ก็จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ ภายใน 30 วันเช่นกัน หรือเมื่อมีลูกจ้างลาออกจากงาน คุณที่เป็น HR ก็จะต้องแจ้งการออกจากงานโดยระบุสาเหตุการออกจากงานด้วยเช่นกัน

หากไม่ส่งเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน จะเกิดอะไรขึ้น

ซึ่งหากคุณเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตาม หรือตั้งใจไม่ขึ้นทะเบียนนายจ้างเพื่อร่วมกองทุนเงินทดแทน จะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้ การขอขึ้นทะเบียนนายจ้างไม่จะเป็นต้องเป็นนายจ้างที่จดทะเบียนบริษัทเท่านั้น แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของกิจการหรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไปก็ต้องขอยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนนายจ้างด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนดำเนินการจ่ายเงินทดแทนให้พนักงาน ทำได้อย่างไร?

ขั้นตอนดำเนินการจ่ายเงินทดแทนให้พนักงาน ทำได้อย่างไร?

พนักงานยื่นคำร้องผ่านนายจ้าง

  • พนักงานต้องแจ้งอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานให้นายจ้างทราบ ภายใน 3 วันหลังเกิดเหตุ
  • นายจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องให้พนักงาน ภายใน 15 วัน

พนักงานยื่นคำร้องด้วยตนเอง (กรณีนายจ้างไม่ดำเนินการให้)

หากมีการทำข้อตกลงระหว่างนายจ้างและพนักงานแล้วว่า ให้พนักงานเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องขอรับสิทธิ์รับเงินกองทุนทดแทนด้วยตัวเอง พนักงานสามารถยื่นคำร้องขอรับสิทธิ์เองได้ที่สำนักงานประกันสังคม

เอกสารที่ต้องใช้:

  • แบบคำขอรับเงินทดแทน (กท.16)
  • ใบรับรองแพทย์
  • รายงานอุบัติเหตุจากที่ทำงาน
  • สำเนาบัตรประชาชนของพนักงาน
  • เอกสารแสดงรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน

ช่องทางการขอรับเงินทดแทน

พนักงานสามารถเลือกรับเงินทดแทนผ่านช่องทางต่อไปนี้:

  • โอนเข้าบัญชีธนาคารของพนักงาน
  • รับเช็คที่สำนักงานประกันสังคม

ระยะเวลาการจ่ายเงิน:
ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 15-30 วัน หลังยื่นเอกสารครบถ้วน

สรุป

กองทุนเงินทดแทนเป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อ คุ้มครองพนักงาน ที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุน ซึ่งจะช่วยให้พนักงานได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าทุพพลภาพ และค่าทำศพ อีกทั้งยังช่วยลดภาระของนายจ้างจากการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

สำหรับ HR มือใหม่ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน อัตราการจ่ายเงินสมทบ วิธีการจ่ายเงินชดเชย และกระบวนการยื่นคำร้อง เพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์อย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจนำไปสู่โทษปรับหรือการดำเนินคดีตามกฎหมาย หากยังมีข้อสงสัยสอบข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักงานประกันสังคม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ได้ทันที

RLC Banners_HR Consult