จากบทความที่แล้วเราพูดถึงการรายงานตัวและขึ้นทะเบียนว่างงาน ว่ามีวิธีอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง สำหรับในบทความนี้เราจะมาแชร์ถึงเรื่องของเงินชดเชยสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีลาออกจากงานเอง หมดสัญญาจ้างหรือโดนเลิกจ้าง สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมเพื่อรับเงินชดเชยในกรณีว่างงานได้
โดยสามารถไปขึ้นทะเบียนว่างงานได้ด้วยตนเอง ณ จุดบริการของสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน สำนักงานจัดหางานของรัฐในท้องที่ หรือช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเงินชดเชยว่างงาน มีดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง: อย่าลืม!! รายงานตัวว่างงาน กรณีลาออก ถูกเลิกจ้าง ต้องทำอย่างไร อัพเดทปี 2567เงินชดเชยจากการว่างงาน สามารถได้จากกรณีใดบ้าง?
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน จะสามารถได้รับเงินชดเชยว่างงานตามสิทธิ์จาก 2 กรณี ดังนี้
- ว่างงานเนื่องจากลาออก เป็นการว่างงานที่เกิดจากผู้ประกันตนตัดสินใจลาออกจากงานเอง
- ว่างงานเนื่องจากเลิกจ้าง หรือหมดสัญญาจ้าง เป็นการว่างงานเมื่อบริษัทหรือองค์กร ตัดสินใจยุติการว่าจ้างผู้ประกันตน หรือเกิดมาจากการสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยที่ไม่ได้มีการต่อสัญญา
หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาอนุมัติเงินว่างงาน
หลักเกณฑ์ที่ผู้ประกันตนจะสามารถรายงานตัวว่างงาน และได้รับเงินชดเชยจากการว่างงานตามสิทธิ์ในระบบประกันสังคม จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ทั้งในกรณีการลาออก หมดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง โดยที่ไม่ใช่สาเหตุอันเกิดมาจากการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง การจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง การละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกันโดยที่ไม่มีเหตุอันควร การประมาทเลินล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และการได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
อีกทั้งจะต้องไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 และต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
โดยที่ผู้ประกันตนสามารถไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานด้วยตนเองที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ จุดบริการของสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน http://empui.doe.go.th
ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน
โดยจะต้องมีความสามารถในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้ และจะต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน รวมไปถึงจะต้องมีการรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางาน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่้งในปัจจุบันการรายงานตัวว่างงานนั้น สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างสะดวก
การคำนวณเงินชดเชยว่างงาน พร้อมยกตัวอย่าง
ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ์เงินชดเชยว่างงาน จะได้รับเงินชดเชยว่างงานเป็นจำนวนที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการว่างงาน และค่าจ้างที่ได้รับ หากเป็นกรณีว่างงานโดยการลาออกเอง จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างที่ว่างงาน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ถ้าหากเป็นการว่างงานโดยการถูกเลิกจ้าง หรือหมดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินชดเชยที่สูงกว่ากรณีลาออกเอง โดยจะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีการคำนวณเงินชดเชยว่างงานโดยคร่าว ๆ ที่ได้รับในแต่ละเดือนมีดังนี้
ค่าจ้างที่ได้รับ x อัตราเงินทดแทน(%) = จำนวนเงินชดเชยว่างงาน
ยกตัวอย่างเช่น ได้รับเงินค่าจ้างก่อนว่างงานเป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท และได้ทำการลาออกเอง จะได้รับเงินชดเชยว่างงานเท่ากับ 25,000 x 30% คิดเป็นจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับสูงสุด 7,500 บาทต่อเดือน หรือวันละ 250 บาท
25,000 (ค่าจ้าง) x 30 % (อัตราเงินทดแทน) = 7,500 (เงินชดเชย)
แต่ถ้าหากเป็นการถูกเลิกจ้าง หรือหมดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินชดเชยว่างงานเท่ากับ 25,000 x 50% คิดเป็นจำนวนเงินชดเชยสูงสุด 12,500 บาทต่อเดือน หรือวันละ 416.7 บาท
25,000 (ค่าจ้าง) x 50 % (อัตราเงินทดแทน) = 12,500 (เงินชดเชย)
ซึ่งในทั้ง2กรณีไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือถูกเลิกจ้าง ถ้าหากคำนวณออกมาแล้วเกิน 15,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยว่างงานในอัตราสูงสุดคือ 15,000 บาทต่อเดือน หรือวันละ 500 บาท
ซึ่งการจ่ายเงินชดเชย จะนับรอบเป็นจำนวนรายวันตามระยะเวลาที่รายงานตัวว่างงาน ดังนั้นในแต่ละครั้งอาจจะได้รับเงินชดเชยว่างงานในจำนวนที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากระยะของการรายงานตัวมีความแตกต่างกันนั่นเอง
ระยะเวลาการได้รับเงินชดเชยว่างงาน
ในกรณีที่ผู้ประกันตนว่างงานโดยการลาออกเอง จะได้รับเงินชดเชยว่างงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ จะต้องรายงานตัวว่างงานรวมทั้งหมด 3 ครั้ง ในเวลา 3 เดือน และจะได้รับเงินชดเชยทั้งหมด 3 ครั้ง ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง
กรณีถูกเลิกจ้างหรือหมดสัญญา จะได้รับเงินชดเชยว่างงานเป็นระยะเวลา 180 วันต่อรอบ ใน 1 ปี โดยจะต้องรายงานตัวว่างงานรวมทั้งหมด 6 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน และจะได้รับเงินชดเชยว่างงานรวมทั้งหมด 6 ครั้ง ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างนั่นเอง
เช็คเงินรายงานตัวว่างงานได้ที่ไหนบ้าง?
โดยทั่วไปแล้ว เงินชดเชยว่างงานที่ได้รับ ถ้าหากมีการขึ้นทะเบียนว่างงานและเตรียมเอกสารต่าง ๆ ครบถ้วน ไม่มีปัญหาอะไร จะได้รับเงินชดเชยโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารที่เราได้แนบเอกสารไป ภายใน 7-15 วันทำการ ไม่นับรวมวันหยุดสุดสัปดาห์
ซึ่งการเช็คเงินรายงานตัวว่างงาน สามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเช็คผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect เช็คผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th/ รวมไปถึงสายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 โดยสามารถโทรสอบถามได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
สรุป
ผู้ประกันตนที่ว่างงาน นอกจากจะมองหางานใหม่หรือเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ กันแล้ว สิ่งสำคัญที่ห้ามพลาดคือการไปขึ้นทะเบียนว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชยว่างงานตามสิทธิ์ที่ควรได้รับในฐานะผู้ประกันตน จะได้มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายในขณะที่ว่างงานกัน
SEO Specialist and Client Success at RLC Outsourcing