fbpx

เปรียบเทียบประกันสังคม ม.33 ม.39 และข้อควรรู้เกี่ยวกับประกันสังคม ม.40

เปรียบเทียบประกันสังคม ม33 ม39 ม40_ปก

โดยทั่วไปแล้วผู้ประกันตนที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มาตรา ด้วยกัน ประกอบไปด้วยประกันสังคมมาตรา 33  ประกันสังคมมาตรา 39 และประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งประกันสังคมแต่ละมาตราก็มีความแตกต่างและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่กันออกไป ดังนี้

ประกันสังคม ม. 33

ประกันสังคมสำหรับลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน โดยทำงานในสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยที่นายจ้างจะส่งเงินสมทบให้ในอัตรา 5% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 750 บาท และผู้ประกันตนส่งเงินสมทบอีก 5% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 750 บาท และเงินสมทบจากรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง

บทความที่เกี่ยวข้อง: 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับประกันสังคม สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่
เปรียบเทียบประกันสังคม ม33 ม39 ม40_1

สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ม.33

การรักษาพยาบาล

  • กรณีเจ็บป่วยปกติ สามารถเข้ารับบริการได้ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลได้ฟรี ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโดยที่ไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย
  • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงในสถานพยาบาลของรัฐ ผู้ป่วยในสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่ได้จริง โดยต้องทำการเบิกภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงไม่นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ส่วนสถานพยาบาลของเอกชน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอกได้ไม่เกิน 1,000 บาท และผู้ป่วยในไม่เกินวันละ 2,000 บาท กรณีรักษาในห้อง ICU สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้รวมไม่เกินวันละ 4,500 บาทผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท ในส่วนของค่ายา และค่าอุปกรณ์ เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท ในขณะที่ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่าเอกซเรย์ สามารถเบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาท
  • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินขั้นวิกฤต สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ที่สถานพยาบาลใกล้เคียงทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง รวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • ค่าทันตกรรม กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปีการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน สามารถเบิกได้ตามที่จ่ายจริงทั้งค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียม โดย 1-5 ซี่ สามารถเบิกได้ไม่เกิน 1,300 บาท และมากกว่า 5 ซี่ ขึ้นไป ไม่เกิน 1,500 บาทการทำฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก สามารถเบิกได้ตามจริงทั้งค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียม แต่ไม่เกิน 2,400 บาท
  • กรณีคลอดบุตร สำหรับผู้ประกันตนหญิง จะได้รับค่าเงินคลอดบุตร 15,000 บาท ไม่จำกัดสถานพยาบาลและไม่จำกัดจำนวนครั้ง อีกทั้งยังสามารถได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรเป็นจำนวน 50% ของค่าจ้างโดยเฉลี่ยเป็นระยะเวลารวม 90 วันโดยสามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง และสามารถเบิกค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท ในขณะที่ผู้ประกันตนชายซึ่งมีภรรยาจดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรืออยู่กินฉันสามีภรรยา จะได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท
RLC Banners_HR Consult

เงินชดเชยกรณีขาดรายได้

  • กรณีที่ต้องหยุดพักการทำงานเพื่อรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันที่เจ็บป่วย โดยสามารถหยุดพักได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ไม่เกิน 180 วันต่อปี จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน สูงสุดไม่เกินปีละ 180 วัน ยกเว้นการป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ประกันสังคมกำหนดไว้ จะได้รับเงินทดแทนสูงสุด 365 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพรุนแรง จะได้รับการทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในกรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่ประกันสังคมกำหนด
  • กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วันใน 1 ปีปฏิทิน กรณีว่างงานจากการลาออกจะได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันใน 1 ปีปฏิทิน
บทความที่เกี่ยวข้อง: เงินชดเชยจากการว่างงาน ว่างแบบไหน ได้เท่าไหร่ พร้อมวิธีคำนวณ อัพเดท 2567
เปรียบเทียบประกันสังคม ม33 ม39 ม40_2

การสงเคราะห์บุตร

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนถึงเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทน สามารถใช้สิทธิ์สงเคราะห์บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ยกเว้นบุตรบุญธรรม) ได้เดือนละ 800 บาทต่อคน คราวละไม่เกิน 3 คน โดยบุตรจะต้องมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์

กรณีชราภาพ

ผู้ประกันตนจะได้รับเป็นรับเงินบำนาญชราภาพซึ่งเป็นเงินที่ทยอยจ่ายรายเดือนตลอดชีวิต หรือเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งเป็นเงินก้อนที่จ่ายภายในครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และเกณฑ์การพิจารณาของประกันสังคม โดยผู้ประกันตนจะต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

กรณีเสียชีวิต

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไว้แล้ว 1 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตเป็นเงินค่าทำศพ 50,000 บาท

ซึ่งจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ เงินสงเคราะห์กรณีตายจ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์ หรือหากไม่มีจะนำมาเฉลี่ยให้กับสามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน นอกจากนี้ทายาทของผู้ประกันตนยังสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตได้อีกด้วย

เปรียบเทียบประกันสังคม ม33 ม39 ม40_3

ประกันสังคม ม. 39

ประกันสังคมโดยสมัครใจสำหรับบุคคลผู้ซึ่งเคยทำงานและเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน มีเงื่อนไขคือจะต้องจ่ายเงินสมทบในมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม โดยที่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมเอาไว้

ซึ่งเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายในแต่ละเดือน คือ 432 บาท และจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณีต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ประกอบไปด้วย กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และชราภาพ

โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ยกเว้นเงินชดเชยกรณีว่างงานที่จะไม่ได้รับสิทธิ์ โดยที่สิทธิ์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้นจะสิ้นสุดลงในกรณีที่เสียชีวิต ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน ขาดการส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน และกลับเข้าไปเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

ประกันสังคม ม. 40

ประกันสังคมสำหรับประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ (ฟรีแลนซ์) ที่มีอายุ 15 ถึง 65 ปี โดยที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท หรือโรงงาน โดยสามารถเลือกส่งเงินสมทบได้ 3 แบบ ดังนี้

  • เงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณีได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย
  • เงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณีได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีทุพพลภาพ กรณีชราภาพ และกรณีตาย
  • เงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิ์ประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณีได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

การสมัครประกันสังคม ม. 40

สามารถสมัครได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th รวมไปถึงสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา ธ.ก.ส. และ บิ๊กซี โดยใช้เพียงบัตรประชาชนในการสมัครเท่านั้น

โดยสามารถจ่ายเงินสมทบได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) บิ๊กซี โลตัส ธนาคารกรุงไทย เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ตู้บุญเติม CanPay และ Shopee Pay หรือจุดบริการที่รองรับการจ่ายเงินประกันสังคม

เปรียบเทียบประกันสังคม ม33 ม39 ม40_4

การเปลี่ยนประกันสังคม

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ทำงานประจำจะต้องทำการสมัครประกันสังคมมาตรา 33 การเปลี่ยนประกันสังคมจาก ม. 33 เป็น 39 จะเกิดขึ้นในกรณีของผู้ที่เคยทำงานประจำซึ่งส่งเงินสมทบประกันสังคม ม. 33 แล้วไม่ได้ทำงานประจำอันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง แต่ต้องการรับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองต่อเนื่องเหมือนกับประกันสังคม ม. 33 ยกเว้นเงินชดเชยในกรณีว่างงาน

ในขณะที่การเปลี่ยนจากประกันสังคมมาตรา 39  กลับมาเป็นมาตรา 33 หลังจากที่ได้งานใหม่ ผู้ประกันตนไม่จำเป็นที่จะต้องทำเรื่องลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แต่อย่างใด เพราะนายจ้างหรือฝ่ายบุคคลของที่ทำงานใหม่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้เข้าทำงานนั่นเอง

สรุป

ดังนั้นไม่ว่าจะมีงานประจำ งานฟรีแลนซ์ หรือเป็นพ่อค้าแม่ค้าบุคคลทั่วไป ก็สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในมาตราต่าง ๆ ได้ตามเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อรับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ รวมไปถึงความคุ้มครองต่าง ๆ จากประกันสังคมกันได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.