fbpx

อย่าลืม!! รายงานตัวว่างงาน กรณีลาออก ถูกเลิกจ้าง ต้องทำอย่างไร อัพเดทปี 2567

รายงานตัวว่างงาน_cover

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นการถูกให้ออกจากงาน เลิกจ้าง หมดสัญญา หรือลาออกจากงานด้วยตนเอง และยังไม่มีงานใหม่มารองรับ สามารถรายงานตัวและขึ้นทะเบียนว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชยรายได้ในระหว่างที่ว่างงานกันได้ ซึ่งวันนี้เราก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการรายงานตัวว่างงาน และการรับเงินชดเชยว่างงาน ของผู้ประกันตนมาตรา 33 มาฝากกัน

ทำไมต้องขึ้นทะเบียนว่างงาน

เมื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 มีเหตุให้ต้องว่างงาน ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดรายได้ ขาดเงินมาใช้จ่ายในขณะที่ยังไม่มีงานทำ การขึ้นทะเบียนว่างงานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์ที่ได้มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่เป็นประจำ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งในที่นี้จะเป็นเงินชดเชยรายได้กรณีว่างงาน ที่สามารถช่วยให้เรามีเงินมาใช้จ่ายในช่วงที่กำลังหางานใหม่ โดยที่ไม่ต้องเครียดหรือกดดันในช่วงที่ว่างงานมากจนเกินไป

รายงานตัวว่างงาน1

ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานและรายงานตัวว่างงาน

ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน สามารถขึ้นทะเบียนว่างงานได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และที่สำนักจัดหางาน กรมการจัดหางานที่ใกล้ที่สุด โดยจะต้องทำการขึ้นทะเบียนว่างงานภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่ว่างงาน โดยจะต้องเตรียมข้อมูลและเอกสารดังนี้้

เอกสารที่ต้องใช้

การลงทะเบียนว่างงานผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน https://e-service.doe.go.th/login.do

สิ่งที่ต้องเตรียมคือการกรอกข้อมูลในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สปส. 2-01/7 ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว วุฒิการศึกษา สถานะที่เป็นเหตุให้ว่างงาน (เช่น ลาออก หรือเลิกจ้าง) ความต้องการในหางานทำ หรือถ้าใครออกมาประกอบอาชีพอิสระ ก็ให้ระบุลงไปด้วยว่าเป็นอาชีพประเภทไหน พร้อมทั้งแนบไฟล์สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้โอนเงินชดเชยเข้าบัญชี

โดยรองรับบัญชีเงินฝากทั้งหมด 8 ธนาคาร ได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กรุงเทพ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กสิกรไทย ธ.ทหารไทยธนชาต ธ.ซีไอเอ็มบีไทย และ ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย

รายงานตัวว่างงาน2

สำหรับผู้ที่เดินทางไปลงทะเบียนว่างงานด้วยตนเอง ให้กรอกเอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) และกรอกแบบขึ้นทะเบียนคนหางาน โดยให้เตรียมเอกสารต่าง ๆ ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
  • หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) (ถ้ามี)
  • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย (กรณีที่ผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เช่น เกิดจากอัคคีภัย วาตภัย หรือธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันเกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการระบาดของโรคติดต่อ)
  • สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ รองรับ 10 ธนาคาร ได้แก่ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.ทหารไทยธนชาต ธ.ซีไอเอ็มบีไทย ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย  ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส.

โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ (08.30-16.30 น.)

RLC Banners_HR Consult

ต้องรายงานตัวภายในระยะเวลากี่วัน?

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน และขึ้นทะเบียนว่างงานเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการรายงานตัวในขณะที่ว่างงานภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ 1 เดือน เพื่อรับเงินชดเชยว่างงาน  กรณีลาออกจะต้องรายงานตัวทั้งหมด 3 ครั้ง และกรณีเลิกจ้างจะต้องรายงานตัว 6 ครั้ง

รายงานตัวไม่ตรงตามกำหนดได้หรือไม่? ต้องทำอย่างไร?

กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สะดวก หรือไม่สามารถรายงานตัวได้ในวันเวลาที่กำหนด สามารถรายงานตัวว่างงานได้ก่อนและหลังกำหนด 7 วัน นับรวมวันหยุดราชการ แต่ในกรณีที่มีการเจ็บป่วย ไปต่างประเทศ หรือในกรณีที่บุคคลที่มีรายชื่อในทะเบียนบ้านเสียชีวิต ทำให้ไม่สามารถรายงานตัวได้ตามกำหนด สามารถนำหลักฐานต่าง ๆ ตามกรณีที่ทำให้ไม่สามารถรายงานตัวได้ ไปแสดงและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานจังหวัดที่ตนเองสะดวก เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

แต่หากไม่ได้เกิดกรณีต่าง ๆ ดังกล่าว และไม่ได้รายงานตัวว่างงานตามกำหนด หรือก่อนและหลังกำหนดไม่เกิน 7 วัน จะส่งผลให้ไม่ได้รับเงินทดแทนว่างงานในเดือนนั้ัน ๆ

รายงานตัวว่างงาน4

รายงานตัวคนว่างงานได้กี่ครั้ง?

ไม่มีกฏระเบียบที่แน่ชัดว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน สามารถขึ้นทะเบียนว่างงานได้กี่ครั้ง แต่จะเป็นการกำหนดเป็นจำนวนสิทธิ์รายวันที่ผู้ประกันตนสามารถเบิกเงินทดแทนประกันสังคมได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุการว่างงาน โดยกรณีที่ว่างงานจากการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถรับสิทธิ์ได้สูงสุด 90 วันต่อปีปฏิทิน

กรณีถูกเลิกจ้าง สามารถรับสิทธิ์รายงานตัวว่างงานสูงสุดรวมกันไม่เกิน 180 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน แต่หากเป็นการรายงานตัวหลังจากการลาออกในครั้งแรกและครั้งที่สอง และต้องการรายงานตัวเมื่อถูกเลิกจ้างในครั้งที่สาม สิทธิ์ที่ได้รับจะเหลือเพียง 90 วันเท่านั้น

โดยสำนักงานประกันสังคมจะทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ให้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตนเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านทางบัญชีเงินฝากธนาคารที่ได้แจ้งไว้ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนว่างงาน

ว่างงานใช้สิทธิ์ประกันสังคมต่อได้หรือไม่?

ในกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน

โดยมีเงื่อนไขการได้สิทธิ์กรณีเจ็บป่วยและทุพพลภาพ ผู้ประกันตนจะต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน ภายใน 15 เดือน กรณีคลอดบุตร ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้ว 5 เดือน ภายใน 15 เดือน และในกรณีเสียชีวิต ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน และหากภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังว่างงาน ผู้ประกันตนยังไม่ได้งานทำหรือกลับเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สิทธิประกันสังคมจะสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ

รายงานตัวว่างงาน3

สรุป

ทั้งนี้หากผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงานต้องการที่จะรักษาสิทธิประโยชน์หลังจาก 6 เดือนที่ได้รับความคุ้มครอง และยังไม่ได้กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมต่อได้ โดยจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท โดยจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 33 ยกเว้นในกรณีว่างงานเพียงกรณีเดียวเท่านั้น

ดังนั้นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีลาออกหรือถูกเลิกจ้าง จะต้องทำการขึ้นทะเบียนว่างงานภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน และจะต้องรายงานตัวทุกเดือน เพื่อรับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคม เพื่อให้มีรายได้ในช่วงที่ว่างงาน และมองหางานใหม่กัน