fbpx

5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับประกันสังคม สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่

5-ข้อควรรู้-ประกันสังคม-1

สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่จดบริษัทและเพิ่งเริ่มมีพนักงานหรือลูกจ้าง นอกจากการจ่ายเงินเดือนพนักงานแล้ว ยังมีอีกสวัสดิการหนึ่งที่สำคัญและเป็นสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมาย นั่นก็คือ “ประกันสังคม” นั่นเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการมือใหม่ดำเนินเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ RLC จะอธิบายให้ท่านได้ทราบว่าประกันสังคมคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร?

ประกันสังคม-คืออะไร

ประกันสังคมคืออะไร?

ประกันสังคม คือ สวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงิน 5% จากฐานเงินเดือนของลูกจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน เป็นการสร้างหลักประกันสังคมในการดำรงชีวิตของลูกจ้าง คุ้มครองจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เมื่อบริษัทมีพนักงาน 1 คนขึ้นไป นายจ้างจำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามกฎหมาย 

Checklist 5 ข้อควรรู้สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่

1. การแจ้งเข้าประกันสังคม

นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง(สปส. 1-01) พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง (สปส. 1-03) เป็นผู้ประกันตน ม.33 ภายใน 30 วัน หลังจากที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน มิฉะนั้นจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังมีข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นหรือแจ้งเข้าประกันสังคมสำหรับบุคคล ดังต่อไปนี้

  • ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของหน่วยงานราชการ
  • ลูกจ้างของสภากาชาดไทย
  • ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  • ลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ได้จ้างประจำตลอดทั้งปี
  • ลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
  • ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาที่งานที่ทำไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เช่น แม่บ้าน คนขับรถ
  • ลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการหาบเร่ แผงลอย

2. การแจ้งออกประกันสังคม

เมื่อลูกจ้างลาออกจากงานหรือมีการเลิกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่แจ้งออกประกันสังคมหรือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนให้ลูกจ้าง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ลูกจ้างออกจากงาน หากนายจ้างแจ้งออกล่าช้า นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะการที่นายจ้างแจ้งล่าช้าจะมีผลต่อการวินิจฉัยจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างที่ออกจากงานอาจจะได้รับความเดือดร้อน

3. ระยะเวลาในการนำส่งเงินสมทบ

เมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนลูกจ้างเรียบร้อยแล้ว ก็มีหน้าที่หักเงินสมทบจากค่าจ้างของลูกจ้างนำส่งในส่วนของผู้ประกันตน และส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้กับสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสมทบไว้ ตัวอย่างเช่น นาย A มาทำงานเดือนมีนาคม ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ดังนั้นนายจ้างจึงนำส่งเงินสมทบในส่วนผู้ประกันตน 5% ของเงินเดือนคือ 750 บาท และอีก 750 บาทในส่วนของนายจ้าง สรุป นายจ้างต้องนำส่งเงินสมทบจำนวน 1,500 บาท ให้ประกันสังคม ไม่เกินวันที่ 15 เดือนเมษายน

4. กรณีที่ลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆต้องทำอย่างไร

 หากลูกจ้างมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อมูล เช่น เปลี่ยนชื่อ-สกุล สถานพยาบาล และข้อมูลจำนวนบุตร เป็นต้น ให้ใช้หน้งสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส. 6-10) โดยแจ้งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

นายจ้างไม่จ่าย-ประกันสัมคม

5. นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้างได้หรือไม่

ตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว นายจ้าง “ไม่” สามารถยกเว้นการนำส่งเงินสมทบให้ลูกจ้างได้ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 กรณีที่อาจจะโดนโทษทางกฎหมายได้ นั่นก้คือ “กรณีนายจ้างจ่ายเงินสมทบล่าช้า” และ “กรณีนายจ้างจ่ายเงินสมทบไม่ครบถ้วน”

กรณีนายจ้างจ่ายเงินสมทบล่าช้า 

หากนายจ้างจ่ายเงินสมทบเกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน นับจากวันที่ครบกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างเดือนเมษายนนายจ้างจะต้องหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคมภายในวันที่ 15 พฤษภาคม แต่นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในวันที่ 30 พฤษภาคม ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 เป็นเวลา 15 วัน (ครึ่งเดือน)

กรณีนายจ้างจ่ายเงินสมทบไม่ครบถ้วน

จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่จ่ายขาด

สรุป 

ประกันสังคมคือสวัสดิการหนึ่งที่สำคัญสำหรับลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในยามเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ เสียชีวิต หรือว่างงาน จึงมีพระราชบัญญัติประกันสังคมออกมา ดังนั้นนายจ้างควรปฎิบัติตามกฎหมาย ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่นายจ้าง โดยสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบทางอินเทอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ประกันสังคม โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมอีก หากนายจ้างรายใดหลงลืมหรือ มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อาจทำให้บริษัทมีความผิดพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อบริษัทได้

ท้ายสุดนี้ หากคุณกำลังมองหาบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการแจ้งเข้าแจ้งออกประกันสังคม นำส่งเงินสมทบ หรือสนใจเกี่ยวกับบริการทำเงินเดือน (Payroll) ที่รวมบริการเกี่ยวกับประกันสังคมเอาไว้ สามารถติดต่อพวกเรา RLC Outsourcing ได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.