fbpx

5 ประเภท ภ.ง.ด. ควรรู้ ภ.ง.ด. คืออะไร มีความสำคัญกับการยื่นภาษีอย่างไร?

ภ.ง.ด. คืออะไร

เมื่อครบปีภาษี ผู้มีเงินได้ทุกคนก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ หรือ ภ.ง.ด. ให้กับประเทศของเรา หลายคนยังสับสนว่าแล้วเราอยู่ในเกณฑ์หรือเสียภาษีหรือไม่ ภ.ง.ด. คืออะไร มีความสำคัญกับการยื่นภาษีอย่างไรใครต้องเสียบ้าง วันนี้ เราได้รวบรวมเอาความรู้เกี่ยวกับ ภ.ง.ด. แบบง่ายๆ มาฝากกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี วิธีคำนวณภาษีพร้อมตัวอย่าง

ภ.ง.ด. คืออะไร

ภ.ง.ด. ย่อมาจาก “ภาษีเงินได้” เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรายได้ โดยมีอัตราภาษีขึ้นอยู่กับรายได้ที่ได้รับและมีระบบการคำนวณภาษีเฉพาะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเสียภาษีเงินได้เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ตามกฎหมาย และเป็นส่วนสำคัญของระบบเงินที่ช่วยให้รัฐมีทรัพยากรเพียงพอในการพัฒนาประเทศและให้บริการส่วนต่าง ๆ ให้กับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

โดยภาษีเงินได้ในรูปแบบต่าง ๆ บุคคลหรือนิติบุคคลต้องยื่นชำระตามประมวลกฎหมาย และเวลาที่แตกต่างกันต่อกรมสรรพากร  โดยมี ภาษีเงินได้ ดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา_ภงด 90 91 93 94

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ตัวอย่างเช่น

    1. ภ.ง.ด. 90

      ภ.ง.ด. คือ แบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1)-40(8) แห่งประมวลรัษฎากรหลายประเภทหรือประเภทเดียว แต่มิใช่เงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรประเภทเดียว สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป เช่น รายได้จากการมีทรัพย์สินให้เช่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีกิจการเป็นของตัวเอง โดยมีกำหนดยื่นแบบภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดไป

    2. ภ.ง.ด. 91

      ภ.ง.ด. 91 คือ แบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรประเภทเดียว มีกำหนดยื่นแบบภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดไป

    3. ภ.ง.ด. 93

      ภ.ง.ด. 93 คือ แบบแสดงสำหรับขอชำระภาษีล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบตามปกติ

    4. ภ.ง.ด. 94

      ภ.ง.ด. 94 คือ แบบแสดงการยื่นแสดงภาษีแบบครึ่งปี สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(5) (6) (7) (8) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน รายได้ค่านายหน้า รายได้ค่าลิขสิทธ์ รายได้จากเงินปันผล เป็นต้น และมีกำหนดยื่นแบบภายในวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน ของปีภาษีเดียวกัน

ภาษีเงินได้นิติบุคคล_ภงด 50 51

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร จัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

ตัวอย่าง

    1. ภ.ง.ด.50

      ภ.ง.ด.50 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีสำหรับบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยนำรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการมาคำนวณเสียภาษี

    2. ภ.ง.ด.51

      ภ.ง.ด.51 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้สำหรับบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (6 เดือน) กิจการทั่วไป SMEs Start-up ใช้วิธีประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทั้งปีและคำนวณภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ วิธีนี้ถ้าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจริงของรอบปีบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระไว้ขาด โดยกิจการต้องยื่นแบบภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย_ภงด 1 2 3 53

3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้ากำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย ซึ่งการหักภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หลังจากนั้นให้นำเงินส่งกรมสรรพากร

ตัวอย่าง

    1. ภ.ง.ด.1

      ภ.ง.ด.1 คือ แบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคมหรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า เป็นต้น ให้แก่ผู้เสียภาษีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

    2. ภ.ง.ด.2

      ภ.ง.ด.2 คือ แบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคมหรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้ประเภทค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิต่าง ๆ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงิน เงินปันผล เป็นต้น โดยผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

    3. ภ.ง.ด.3

      ภ.ง.ด.3 คือ แบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคมหรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้ประเภทค่าเช่าทรัพย์สิน ค่ารับเหมา ค่าบริการ ค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง เป็นต้น ซึ่งผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา โดยผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบภ.ง.ด.3 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

    4. ภ.ง.ด.53

      ภ.ง.ด.53 คือ แบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีผู้จ่ายได้ที่เป็นรัฐบาล องค์กรรัฐบาล บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่จ่ายเงินได้ประเภทค่าเช่าทรัพย์สิน ค่านายหน้า ค่าบริการค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ซึ่งผู้รับเงินเป็นนิติบุคคล โดยผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบภ.ง.ด.53 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม_ ภพ30

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศโดยกรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บภาษีนี้ ซึ่งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% แต่มีการออกกฎหมายพิเศษลดลงมาเหลือ 7% และใช้วิธีต่ออายุแบบรายปี

ตัวอย่าง

ภ.พ.30
ภ.พ.30 คือ แบบแสดงรายการสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยผู้มีหน้าที่จัดทำคือ เจ้าของธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และได้ทำการขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องนำส่งให้กรมสรรพากรทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือสามารถยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็ได้

ภาษีธุรกิจเฉพาะ_ภพ30 กธ40

5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่าง

    1. ภ.พ.30

      แบบแสดงรายการสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยผู้มีหน้าที่จัดทำคือ เจ้าของธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และได้ทำการขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องนำส่งให้กรมสรรพากรทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือสามารถยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็ได้

    2. ภ.ธ.40

      ภ.ธ.40 คือ แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบกิจการที่มีสถานประกอบการหลายแห่ง และมีความประสงค์ จะขอยื่นแบบฯ และชำระภาษีรวมกัน ก็ทำได้โดยต้องขออนุมัติต่อกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรแล้วจึงจะยื่นแบบฯรวมกันได้ ในกรณีนี้ให้ผู้ประกอบกิจการยื่น ภ.ธ.40 เพียงฉบับเดียวพร้อมกับใบแนบตามที่กรมสรรพากรกําหนด

ผู้มีรายได้เท่าไหร่ต้องยื่นภาษีเงินได้

          กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
            บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เริ่มใช้ปีภาษี 2560)

เงินได้สุทธิ (บาท) ช่วงเงินได้สุทธิของแต่ละขั้น อัตราภาษี (ร้อยละ)
1 – 150,000 150,000 ได้รับยกเว้น
150,001 – 300,000 150,000 5
300,001 – 500,000 200,000 10
500,001 – 750,000 250,000 15
750,001 – 1,000,000 250,000 20
1,000,001 – 2,000,000 1,000,000 25
2,000,001 – 5,000,000 3,000,000 30
5,000,001 บาทขึ้นไป 35
บทความแนะนำ : 4 ข้อควรรู้ก่อนยื่นภาษี ที่มือใหม่ต้องอ่าน

กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

ธุรกิจSMEs ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการตลอดทั้งปี ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับอัตราภาษี ดังนี้

กำไรสุทธิ (บาท) อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (ร้อยละ)
ไม่เกิน 300,000 ยกเว้น
เกิน 300,000 แต่ไม่เกิน 3,000,000 15
3,000,000 ขึ้นไป 20

กรณีนิติบุคคลหรือบริษัททั่วไปที่ไม่เข้าเงื่อนไข SMEs ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิสำหรับกิจการที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อสรุปภาษีขายและภาษีซื้อ ยื่นต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปไม่ว่าในเดือนนั้นจะมีรายการซื้อขายหรือไม่

กรณีไม่ชำระภาษีตามกำหนดเวลา

บุคคลใดยื่นแบบภาษีภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบฯ ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษ ดังนี้

  1. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  2. กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  3. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญา ไม่เกิน 2,000 บาท
  4. กรณีจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  5. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

สรุป

ภาษีเงินได้เป็นภาษีที่เกิดจากการเสียภาษีตามรายได้ที่ได้รับ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศในการดำเนินงานและพัฒนาประเทศ โดยปกติแล้วภาษีเงินได้จะมีอัตราที่ต่างกันขึ้นอยู่กับรายได้และสถานะของผู้เสียภาษี การชำระภาษีเงินได้ถือเป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีในการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศและเป็นการเลือกที่จะช่วยสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้ด้วย เราจึงไม่ควรละเลยหรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐขาดรายได้ยังเสี่ยงต่อความผิดทั้งทางแพ่งและอาญาอีกด้วย

อ้างอิง https://www.rd.go.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.