วิธีการคำนวณโอที (OT)
ในการทำงานนั้น เป็นไปไม่ได้เลยว่าเราจะทำงานให้เสร็จสิ้นพอดีกับเวลาที่เราวางแผนกำหนดไว้ 100% ดังนั้นจึงมีการทำงานล่วงเวลาเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า Over Time หรือ OT นั่นเอง การทำงานล่วงเวลา คือการทำงานนอกเหนือหรือเกินจากเวลาทำงานปกติ ซึ่งเวลาทำงานปกติส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 8 ชม หรือนายจ้างบางที่อาจกำหนดให้ทำงานวันละไม่เกิน 12 ชม. แต่ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงก็ได้ ถึงแม้ว่าพนักงานของเราจะมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการทำงานล่วงเวลาเกิดขึ้น บริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างในส่วนนี้ให้แก่พนักงานด้วย ในการคำนวณโอทีจะมีตัวคูณที่สำคัญ คือ 1.5, 2 และ 3 ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกจำนวนเท่าของค่าแรง โดยกฎหมายแรงงานกำหนดให้การทำงานล่วงเวลาในวันปกติ นายจ้างต้องจ่ายค่าแรง 1.5 เท่าของค่าแรงปกติ ให้แก่พนักงาน แต่ถ้าการทำงานล่วงเวลานั้นเป็นการล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะต้องจ่าย 2 เท่า
ซึ่งโดยปกติแล้วค่า OT จะถูกคำนวณโดย HRหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนวณรวมกับเงินเดือนและทำจ่ายตามรอบจ่ายของบริษัทนั้น แต่ในบางบริษัทการทำเงินเดือน + OT ไม่ได้ถูกจัดทำโดย HR หรือผู้ที่เชี่ยวชาญ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการทำงานล่วงเวลา(OT) ของเราถูกคำนวณอย่างถูกต้อง บทความนี้เราจะมาแชร์เพื่อนๆเกี่ยวกับการคิดคำนวณโอที ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลย
การคำนวณโอที (OT) ให้แก่พนักงานประจำในวันทำงานปกติ (Working Day)
ตัวอย่าง
นายเอ เงินเดือน 21,000 บาท ทำงาน 08.00-17.00 น. ในวันจันทร์ (วันทำงานปกติ) และทำโอทีไปด้วย 3 ชั่วโมง ดังนั้นวิธีการคำนวณ คือ
ขั้นตอนที่ 1:
หาค่าแรงรายชั่วโมงของนายเอ โดยนำเงินเดือน หาร 30 วัน เพื่อให้ทราบค่าแรงรายวัน และนำผลลัพธ์ไป หาร 8 ชั่วโมง อีกครั้ง เพื่อให้ทราบค่าแรงรายชั่วโมง
สูตร เงินเดือน / 30 / 8 = 21,000/30/8 = 87.5 บาท/ชั่วโมง
ขั้นตอนที่ 2:
นำค่าแรงรายชั่วโมงคูณกับ 1.5 เพื่อดูว่าค่าแรงของชั่วโมงที่ทำโอที จะเป็นจำนวนกี่บาท
87.5 บาท * 1.5 เท่า = 131.25 บาท/ชั่วโมง
ขั้นตอนที่ 3:
นำค่าแรงรายชั่วโมง OT คูณกับจำนวนชั่วโมงที่ทำโอที
131.25 บาท * 3 ชั่วโมง = 393.75 บาท
ดังนั้นภายในเดือนนั้นบริษัทต้องจ่ายค่าแรงนายเอ 21,000 + 393.75 = 21,393.75 บาท
การคำนวณโอที (OT) ให้แก่พนักงานประจำในวันหยุดประเพณีหรือวันหยุดประจำสัปดาห์
ก่อนจะไปดูตัวอย่าง เราขออธิบายเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นก่อนว่า ปกติแล้วเงินเดือนของพนักงาน จะถือว่าเป็นการจ่ายค่าแรงแบบเหมารวมทั้งเดือน รวมถึงวันหยุดด้วย นั่นหมายความว่า หากในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประเพณี หรือวันหยุดประจำปี พนักงานมาทำงาน ช่วงระยะเวลาในการทำงานปกติ เช่น 08.00-17.00 น. พนักงานจะได้รับค่าล่วงเวลาเพิ่มแค่ 1 เท่า เท่านั้น (จริงๆคือทั้งวันนั้นจะได้ 2 เท่า แต่อีก 1 เท่า ถูกจ่ายมาให้พนักงานในรูปของเงินเดือนที่ถูกเหมาจ่ายก่อนแล้ว)
ส่วนค่าล่วงเวลาในชั่วโมงทำงานที่ไม่ปกติ หรือง่ายๆก็คือ เวลาหลังเลิกงาน เช่น 17.00-21.00 น. ลูกจ้างจะได้ค่าแรง 3 เท่า ถามว่าตัวเลข 3 นี้ได้มาจากไหน? เพราะว่าในวันปกติที่พนักงานทำโอที จะได้ค่าแรงในชั่วโมงทีทำโอที 1.5 เท่า ดังนั้นเมื่อเป็นวันหยุด จึงต้องได้เพิ่มขึ้นไปอีก 1.5 เท่า เป็นการนำตัวล่วงเวลาปกติ 1.5 คูณกับ 2 จึงได้ค่าแรง 3 เท่าขึ้นมา
ตัวอย่าง
นายบี เงินเดือน 21,000 บาท ทำงาน 08.00-20.00 น. ในวันอาทิตย์ (วันหยุดประจำสัปดาห์) ทำโอทีไป 3 ชั่วโมง ดังนั้นวิธีการคำนวณจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การคำนวณ OT ของชั่วโมงทำงานปกติ และ การคำนวณ OT ของชั่วโมงทำงานที่เกินปกติ ดังนี้
-
การคำนวณ OT ของชั่วโมงทำงานปกติ
เวลางานปกติของนายบี คือ 08.00-17.00 น. ดังนั้นในช่วงเวลานี้ จะได้รับค่าล่วงเวลาเพิ่ม 1 เท่า ซึ่งคำนวณจากเงินรายวันที่จะได้ คือ 700 บาท (ค่าแรง 1 เท่า ชั่วโมงละ 87.5 บาท * 8ชั่วโมง) แต่หลังจากเวลา 17.00-20.00 น. จะนำจำนวนชั่วโมงตรงนี้ไปหาค่าล่วงเวลาแบบเกินปกติ
-
การคำนวณ OT ของชั่วโมงทำงานที่เกินปกติ
ขั้นตอนที่ 1:
หาค่าแรงรายชั่วโมงของนายบี โดยนำเงินเดือน หาร 30 วัน เพื่อให้ทราบค่าแรงรายวัน และนำผลลัพธ์ไป หาร 8 ชั่วโมง อีกครั้ง เพื่อให้ทราบค่าแรงรายชั่วโมง
สูตร เงินเดือน / 30 / 8 = 21,000/30/8 = 87.5 บาท/ชั่วโมง
ขั้นตอนที่ 2:
นำค่าแรงรายชั่วโมงคูณกับ 3 เพื่อดูว่าค่าแรงของชั่วโมงปกติที่ทำ OT จะเป็นจำนวนกี่บาท
87.5 บาท * 3 เท่า = 262.5 บาท/ชั่วโมง
ขั้นตอนที่ 3:
นำค่าแรงรายชั่วโมง OT คูณกับจำนวนชั่วโมงที่ทำโอที (17.00-20.00 น.)
262.5 บาท * 3 ชั่วโมง = 787.5 บาท
ดังนั้นภายในเดือนนั้นบริษัทต้องจ่ายค่าแรงนายบี 21,000 + 700 + 787.5 = 22,487.5 บาท
สรุป
ในการคิด OT ให้แก่พนักงานนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- คิด OT ในวันทำงานปกติ
- คิด OT ในวันหยุด
ทั้งสองแบบจะมีวิธีคิดคล้ายๆกัน ต่างกันเพียงแค่ตัวคูณที่จะนำไปใช้ หากเป็นการคิด OT ในวันทำงานปกติ จำนวนชั่วโมงที่พนักงานทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องให้ค่าแรงเพิ่ม(ตัวคูณ) 1.5 เท่า ในขณะที่วันหยุด นายจ้างจะต้องให้ค่าแรงล่วงเวลาให้พนักงาน 1 เท่า (ในช่วงเวลาปกติ) และ 3 เท่า (ในช่วงเวลาเกินปกติ) ดังนั้นผู้คำนวณโอที ต้องหมั่นตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้เงินเดือนของพนักงานมีความถูกต้อง หลายๆครั้งที่มีความผิดพลาดจากการคำนวณโอทีไม่ถูกต้อง ทำให้วุ่นวายต้องตามแก้ไขในแต่ละเดือน หรือเพื่อช่วยคุณแบ่งเบาภาระในการคิดเงินเดือน และคำนวณโอทีผิดพลาด ติดต่อ RLC Outsourcing เราพร้อมช่วยเหลือคุณในการขับเคลื่อนองค์กร
HR Content Creator.