fbpx

Busy Culture เพราะว่างจึงรู้สึกผิด!?

Busy Culture เพราะว่างจึงรู้สึกผิด

เพื่อนๆเคยได้ยินคำว่า Busy Culture กันบ้างไหมครับ? หลายๆคนอาจจะเคย หรือบางคนอาจจะไม่คุ้นหูกับคำนี้ซักเท่าไหร่ แต่ Busy Culture เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการทำงานของเรามานานมว๊ากก (ก ล้านตัว) สำหรับใครที่ไม่คุ้นกับคำนี้ แต่เพื่อนๆน่าจะคุ้นกับความรู้สึกที่ว่า เวลาทำงาน ชั้นจะต้องดูตื่นตัวและยุ่งตลอดเวลา ว่าง=รู้สึกผิด กลับบ้านตรงเวลาก็หาว่าขี้เกียจ บางครั้งโดนเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายเขม่นให้ต้องรู้สึกผิดกันไปแบบงงๆ เพราะเราต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ จนถึงจุดนึง “ถ้าเธอต่อต้านวังวนเหล่านี้ไม่ได้ ก็มาเป็นส่วนหนึ่งของมันซะ!”

นี่เป็นพียงส่วนหนึ่งของ Busy Culture ที่คนทำงานทุกคนต้องเคยเจอ บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้า Busy Culture กัน ว่ามันคืออะไรกันแน่ เกิดขึ้นจากอะไร ส่งผลยังไงต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของเราบ้าง แล้วเราจะรับมือกับเจ้าสิ่งนี้ได้ยังไงบ้าง

Busy Culture คืออะไร ทำไมต้องรู้สึกผิดเวลาว่าง

Busy Culture เป็นแนวคิด วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความเชื่อต่อๆกันมา ที่มองว่าการทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาหรือการทำงานอย่างต่อเนื่องรวมถึงการทำงานเกินเวลาเป็นทางสู่ความสำเร็จ รู้สึกมีคุณค่าเวลาที่ตัวเองดูยุ่ง และตามมาด้วยการเป็นที่ยอมรับในสังคมหรือองค์กร

วัฒนธรรมหรือความเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องทำงานไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งเวลาว่างหรือนอกเวลาทำงาน รู้สึกว่าต้องแสดงให้คนรอบข้างเห็นว่าตนเองยุ่งอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและไม่ถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ ขาดความมุ่งมั่น หรือไม่มีกระตือรือร้นและดูเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จ!?

Busy not Productivity

ในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Work life balance ในการทำงาน มักจะมีแนวคิดไปในทิศทางที่คล้ายๆกันว่า “Busy ≠ Productivity” อธิบายสั้นๆคือ Busy เน้นทำเยอะ แต่ผลลัพธ์จะออกมาเยอะหรือดีไหมเป็นอีกเรื่อง แต่ Productivity คือ เน้นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการในเวลาที่เหมาะสม

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด “Busy Culture”

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด “Busy Culture” อาจแตกต่างกันไปตามบริบททางวัฒนธรรมและองค์กร แต่นี่คือบางปัจจัยหลัก:

    • ความคาดหวังทางสังคม: ในบางสังคมหรือองค์กรความยุ่งเป็นสัญญาณของความสำเร็จหรือทำให้รู้สึกมีคุณค่า ผู้คนที่ทำงานอย่างเครียดเคร่งอาจถูกมองว่ามีความมุ่งมั่นและมีความสำเร็จมากกว่าคนที่ให้ความสำคัญกับ Work life balance
    • เทคโนโลยีและการสื่อสาร: มือถือและอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องตอบอีเมลล์ แชท หรือรับสายที่เกี่ยวกับเรื่องงานตลอดเวลา เรื่องนี้นอกจากจะส่งผลโดยตรงกับตนเองยังอาจก่อให้เกิดผลตามมากับคนรอบข้างหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย คุณลองนึกภาพว่ากำลังทานอาหารกับครอบครัวแล้วมีใครซักคนบนโต๊ะอาหารก้มหน้าก้มตาตอบอีเมลล์ แชท หรือคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา อาหารมื้อนั้นคงจะกร่อยไม่น้อย
    • แรงกดดันจากการแข่งขัน: การแข่งขันสูง บางคนอาจรู้สึกว่าต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับคนอื่น เพื่อเป็นที่ยอมรับและเพื่อรักษาตำแหน่งหน้าที่การงานให้มั่นคง
    • วัฒนธรรมองค์กร: บางองค์กรอาจมีความคาดหวัง ตั้งกฎระเบียบข้อบังคับ รวมถึงมีการวัดผล (PMS: Performance Management System) ที่อาจจะไม่เหมาะสม เช่น เน้นเรื่องของการเข้างาน ชั่วโมงในการทำงาน การขาด ลา มาสาย มากกว่าที่จะวัดผลลัพธ์ของงาน ทำให้พนักงานต้องทำงานอย่างหนัก แม้กระทั่งนอกเวลาทำงาน หรือให้ความสำคัญกับการทำงานเกินกว่าการพักผ่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง: รู้จัก PMS – Performance Management System อาวุธสุดคูลสู่ความสำเร็จสำหรับองค์กรยุคใหม่
Busy culture_2

เมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือวัฒนธรรม ที่บังคับให้เราต้องยุ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงจุดหนึ่ง Busy Culture จะซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้เช่นกัน (ทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว) จากประสบการณ์ตรงในการให้คำปรึกษาด้าน HR กับหลายๆบริษัท เราพบว่ามีพนักงานบางคนมองว่า Busy Culture คือความสบายใจอย่างหนึ่ง และรู้สึกผิดเวลาอยู่เฉยๆ (โดยเฉพาะถ้าอยู่เฉยๆและเห็นคนอื่นกำลังทำงาน)!?

ผลกระทบของ “Busy Culture”

จากปัจจัยที่กล่าวมา เราพบว่า Busy Culture ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ในการทำงานเช่นกัน

  1. ภาวะเบิร์นเอาท์ (Burnout): การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเวลาพักผ่อนอาจส่งผลให้ผู้คนเข้าสู่ภาวะเบิร์นเอาท์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
  2. การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ: คนที่ยุ่งตลอดเวลาอาจไม่มีเวลาสำหรับการตั้งคำถาม วิเคราะห์หรือคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงาน
  3. จิตใจอ่อนล้า: การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการพักผ่อนเพียงพออาจทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ
  4. ร่างกายอ่อนแรง: การทำงานอย่างหนักเกินไป การนอนไม่เพียงพอ การทานอาหารที่ไม่ดีสำหรับสุขภาพ ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับความเครียด เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
  5. การบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ: องค์กรที่ยังมีรูปแบบการทำงานหรือวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิด “Busy Culture” อาจต้องเผชิญกับปัญหาในการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ความเครียดที่เกิดจากการทำงานอย่างหนักไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการทำงานรายบุคคล แต่อาจจะรวมถึงภาพที่ใหญ่ขึ้น อย่างการทำงานของทีมและในระดับองค์กร
    การที่พนักงานหรือทีมขาดสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว เกิดความอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิดใจ การบริหารจัดการในด้านต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย อีกทั้งปัญหาที่จะตามมาคืออัตราการลาออกที่สูง เสียเวลาและทรัพยากรในการหาพนักงานทดแทน

ดังนั้น การจัดการกับ “Busy Culture” เป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร การสร้างสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว การให้ความสำคัญกับการพักผ่อนและการดูแลสุขภาพจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ “Busy Culture”.

วิธีการรับมือกับ “Busy Culture”

การดูแลรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในการต่อสู้กับเจ้า “Busy Culture” ด้วยการมีสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยเริ่มต้นง่ายๆที่ตนเอง เช่น

  1. การตั้งเป้าหมายและการวางแผน: ให้ความสำคัญกับการวางแผนรายวัน, สัปดาห์, หรือเดือน เพื่อให้สามารถจัดการกับตารางงานได้ โดยเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนและเวลาในการทำงานที่เหมาะสม จะสามารถทำให้เราลดความยุ่งเหยิงในการทำงานได้เป็นอย่างดี
  2. การจัดการเวลา: Time Management เป็นสิ่งสำคัญที่หลายๆคนมองข้ามหรืออาจจะไม่คุ้นเคย ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือหลากหลายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของ Time Management ง่ายที่สุดและฟรีที่ทุกคนน่าจะมีคือ Calendar ที่มีมาพร้อมกับ Email ของทุกคน ช่วยในการจัดการและบริการตารางงานของตนเองและของเพื่อนร่วมงาน เมื่อเราบันทึกสิ่งที่ต้องทำลงใน Calendar จะทำให้เราเห็นภาพรวมที่ชัดเจนในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือน ว่าเรามีตารางงานที่แน่นมากน้อยแค่ไหน
Busy culture_Time management

3.รู้จักและเข้าใจตัวเอง: ไม่มีใครรู้จักเราดีเท่าตัวเราเอง อย่ากดดันตัวเองและโหมทำงานหนักเกินไป เรียนรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนละปล่อยให้ตัวเองได้ว่างจากเรื่องงานบ้าง

4.การสื่อสาร: ถ้าคุณรู้สึกว่างานที่ได้รับมากเกินไป จนเริ่มสงผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ คุณควรพูดคุยกับผู้บริหารหรือผู้มีส่วนร่วมในงานของคุณเพื่อหาทางออกร่วมกัน

5.หางานใหม่: อาจจะฟังดูโหดร้ายไปนิดนึง แต่ถ้าคุณได้ลองพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวางแผนการทำงาน จัดตารางเวลา รวมถึงพูดคุยกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานแล้วยังไม่สามารถเอาตัวเองออกมาจากความยุ่งเหยิงเหล่านั้นได้ บางครั้งการลาออกและมองหางานใหม่ อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ไม่เลว
แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดที่ต้องหางานใหม่ อาจจะต้องถามตัวเองให้ชัดก่อนว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้เกิดจากตัวคุณเองที่ปล่อยวางจากงานไม่ได้ แบกงานทุกอย่างไว้คนเดียวเป็น Super Man เพราะถ้าเป็นแบบนั้นการหางานใหม่ก็อาจจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น คุณอาจจะแค่เปลี่ยนที่ไปเป็น Super Man ที่อื่น

สรุป

Busy Culture” เป็นวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นเรื่องการทำงานอย่างหนักอยู่ตลอด, ส่งผลให้คนรู้สึกว่าการที่จะถูกยอมรับจากคนอื่นและทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า มาจากการทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อย่างเช่น ความคาดหวังในสังคม, มาตรฐานการทำงานที่สูง, แรงดันจากการแข่งขัน, และเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงการทำงานได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอีเมลล์ แชท หรือการโทร

โดยผลกระทบของ “Busy Culture” ทั้งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจนั้นสำคัญ มันอาจทำให้เกิดความเครียด, ความเหนื่อยล้า,ภาวะโรคซึมเศร้า, ปัญหาทางสุขภาพร่างกายและอาจจะรวมถึงปัญหาเรื่องของความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือคนใกล้ตัว ที่เกิดจากการขาดการพูดคุยดูแลเอาใจใส่กันไม่มากเท่าที่ควรเพราะยุ่งกับงานอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งการรับมือเจ้าสิ่งนี้ก็ทำได้หลายวิธีเช่น วางเป้าหมายและวางแผนการทำงานที่ชัดเจน, ฝึกการทำ Time Management ที่มีประสิทธิภาพ, สื่อสารปัญหาและความรู้สึกของคุณ, และดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณ ในกรณีที่การทำงานยุ่งยากและไม่สามารถจัดการได้ และสุดท้ายถ้าเราปรับที่ตัวเองแล้ว ยังรู้สึกไม่ไหว การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรก็คงเป็นเรื่องยากเกินไป การหางานใหม่อาจเป็นอีกวิธีที่ก็ไม่เลวนัก

เพราะ Productivity ≠ Busy องค์กรสมัยใหม่โฟกัสการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (productivity) มากกว่าการทำงานหนัก (busy) เพราะการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่มาของผลลัพธ์ที่ดีและสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ตราบใดที่พนักงานมีความสุขและสามารถดูแลตนเองได้ดี พวกเขาจะสามารถทำงานได้ดีมากขึ้นและมีความมุ่งมั่นในงานมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรพัฒนาและประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว

Leave a Reply

Your email address will not be published.