มาแล้ว! สิทธิช้อปดีมีคืน ปี 2566 อย่างที่ทราบกันว่าในทุกช่วงต้นปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) นอกจะเป็นช่วงเวลาในการยื่นภาษีประจำปีแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาในการเก็บสิทธิค่าลดหย่อนที่ชื่อว่า “ช้อปดีมีคืน” อีกด้วย หลายๆคนอาจจะงงว่าทำไมแอดมินถึงใช้คำว่า เก็บสิทธิ อ้าวแล้วต้องลงทะเบียนรึเปล่า ถึงจะได้สิทธินี้? อยากรู้ตามไปอ่านด้านล่างเลย
ใครได้ใช้สิทธิ ช้อปดีมีคืน บ้าง?
สำหรับสิทธิช้อปดีมีคืนนี้ บุคคลธรรมดาทุกๆคนที่ทำการเสียภาษี จะได้สิทธิกันทุกคนอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนอะไรนะคะ เพียงแต่ที่แอดมินใช้คำว่าเก็บสิทธิ นั่นเพราะว่า ในช่วงเวลา 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเก็บใบเสร็จและใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการให้ดี เพื่อสำหรับนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษี สำหรับปีภาษี 2566 (ซึ่งจะยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567) นั่นเอง
สินค้าและบริการที่เข้าเงื่อนไข มีอะไรบ้าง?
สินค้าและบริการที่เข้าเงื่อนไขมีอยู่ 3 ประเภท และต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศไทย นั่นคือ
(1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
(2) ค่าซื้อหนังสือหรือค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
หรือสรุปได้ว่าคือ 3 กลุ่มดังนี้
(1) สินค้าและบริการที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (VAT 7%)
(2) หนังสือและอีบุ๊ค
(3) สินค้า OTOP
โดยสามารถใช้สิทธิ์ร่วมกับโครงการคนละครึ่งหรือผู้ที่มีสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐได้ (บัตรสวัสดิการรัฐ) นอกจากนั้นทางรัฐยังอนุญาตให้ สามารถใช้ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ เป็นค่าลดหย่อนได้แล้ว โดยต้องขอเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ (ในใบกำกับภาษี ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนรถ แต่ต้องมีชื่อ ที่อยู่ ให้ครบถ้วน) แต่ก็ยังมีสินค้าและบริการบางตัวที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิ์ได้ ดังต่อไปนี้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่ายาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- หนังสือพิมพ์และนิตยสาร (ทั้งกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์)
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
- ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลง ที่อยู่ในระยะเวลา 1 ม.ค. ถึง 15 ก.พ.
- ค่าเบี้ยประกันภัยและประกันชีวิตต่างๆ (เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ยกเว้น VAT)
ช้อปดีมีคืนลดหย่อนสูงสุดได้กี่บาท?
สำหรับจำนวนมูลค่าของสิทธิช้อปดีมีคืนของปี 2566 มีการปรับเปลี่ยนจากปี 2565 คือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 40,000 บาท (รวม VAT) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ให้ลดหย่อนสูงสุดเพียง 30,000 บาท ถึงแม้ว่าปีนี้จะมาด้วยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มาพร้อมด้วยการแบ่งประเภทใบกำกับภาษีออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ
- ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ รวมทุกใบสูงสุด 30,000 บาท
- ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice) รวมทุกใบสูงสุด 40,000 บาท
นั่นหมายความว่าหากเราใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษครบสิทธิ์ 30,000 บาทแล้วที่เหลือต้องเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-TAX Invoice) จำนวน 10,000 บาท โดยกรณีที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หลักฐานที่ใช้ในการลดหย่อนภาษี คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อผู้ซื้อระบุไว้ และ กรณีที่ซื้อจากผู้ประกอบการสินค้า OTOP และหนังสือ ต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่มีชื่อผู้ซื้อระบุไว้
สิ่งที่ต้องระวัง
- หากเป็นการซื้อสินค้าและบริการที่เข้าข่ายแต่ทางร้านไม่สามารถอออกใบกำกับภาษีให้ได้ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากจะถือว่าไม่มีหลักฐานตามกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบกับร้านค้าที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการให้ดีก่อนว่าสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้ได้หรือไม่
- หากเป็นการใช้บริการ ต้องเป็นบริการที่เริ่มขึ้นและจบลงภายในระยะเวลา 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น
- สิทธิประโยชน์ตัวนี้เป็นรายการลดหย่อนภาษี ไม่ได้ลดภาษีทั้งจำนวน ดังนั้นตรวจสอบให้ดีถึงความคุ้มค่า ว่าเราเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราไหน และใช้แล้วจะลดภาษีได้กี่บาท เพราะมันคือการได้เงินคืนบางส่วน แต่ไม่ได้เงินคืนเต็มจำนวนจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง หรือหากไม่แน่ใจว่าตนเองจะเสียภาษีกี่บาทและจได้สิทธิเงินคืนจากโครงการช้อปดีคืนเท่าไหร่ สามารถเข้าไปดูบทความ “รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษีปี 2565? วิธีคำนวณภาษีพร้อมตัวอย่าง” เพื่อคำนวณภาษี แล้วมาดูว่าจะได้คืนภาษีกี่บาท แล้วคุ้มจริงไหม? โดยจากข้อมูลที่แอดรวบรวมมาได้ โครงการช้อปดีมีคืน อัตราภาษีที่ลดได้จริง ดังนี้
ข้อแตกต่างช้อปดีมีคืน ปี 2565 vs 2566
สรุป
แอดมินขอสรุปเงื่อนไขและรายละเอียดแบบสั้นๆของสิทธิ “ช้อปดีมีคืน 2566” ให้ผู้อ่านอีกครั้งนะคะ
- ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาทุกคนสามารถใช้สิทธินี้ได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ
- ต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566
- สินค้าและบริการที่เข้าเงื่อนไข คือ สินค้าที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT, หนังสือและอีบุ๊ค, สินค้า OTOP
- มูลค่าการใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 40,000 บาท
สุดท้ายนี้ การวางแผนทางภาษีเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นหากใครที่กำลังจับจ่ายใช้สอยตอนนี้ เพื่อเอาใบเสร็จและใบกำกับภาษีไปลดหย่อนภาษีในปีหน้า ต้องรีบเก็บหลักฐานการใช้จ่ายไว้ให้ดี เพื่อถึงเวลานั้นจะไม่หายและลืมกันนะ ว่าแล้วแอดมินก็ขอไปค้นหาใบเสร็จตอนต้นปีก่อนนะคะ ไม่รู้ไปเก็บไว้ไหนแล้ว…
ที่มา: TaxBugnoms, ไทยรัฐ
SEO Specialist and Client Success at RLC Outsourcing