fbpx

2 ประเภทของการลา ทดลองงานอยู่ ลูกจ้างก็ลาได้!

ทดลองงาน ลาได้ไหม

การลาในช่วงทดลองงาน สามารถทำได้หรือไม่?

ช่วงทดลองงาน คือ ช่วงระยะเวลาทำงานที่ลูกจ้างและนายจ้างจะได้เรียนรู้การทำงานของกันและกัน ด้านลูกจ้างจะได้เรียนรู้เนื้องานและวัฒนธรรมต่างๆของบริษัท ส่วนฝั่งของนายจ้างจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานของลูกจ้าง อุปนิสัย ทัศนคติในการทำงาน ว่าสามารถเข้ากับองค์กรได้หรือไม่ หากผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกจ้างก็สามารถทำต่อไปได้ หรือที่เราเรียกกันว่า “ผ่านโปร” นั่นเอง แต่หากผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่น่าพึงพอใจ นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างหรือขยายระยะเวลาการทดลองงานได้

ซึ่งจริงๆแล้วตามกฎหมายของประเทศไทย ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าให้องค์กรต้องมีระยะทดลองงานอย่างชัดเจน เพียงแต่ จากข้อกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 (1) เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชย ที่กล่าวว่า หากนายจ้างต้องการเลิกจ้างพนักงานที่ทำงานมาได้ครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี จะต้องจ่ายเงินชดเชยแก่พนักงานในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือหากจะอธิบายในภาษาที่เข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้าพนักงานมาทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี กรณีเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานเป็น 1 เท่าของเงินเดือนนั่นเอง ด้วยข้อกำหนดตรงนี้ ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ในไทยมักจะกำหนดช่วงเวลาทดลองงานไว้ที่ 119 วันนั่นเอง

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ: กรณีเลิกจ้าง บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเท่าไหร่?

และเพราะความเข้าใจผิดๆที่ถูกส่งต่อกันมาในโลกโซเชียล เช่น หากทดลองงานอยู่ ยังลาไม่ได้นะ ถ้าลาจะไม่ได้รับเงินค่าจ้างของวันนั้นๆ ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ทำให้หลายๆคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า ช่วงทดลองงาน ห้ามพนักงานลาจริงเหรอ? แล้วถ้าป่วยขึ้นมาล่ะ จะลาได้รึเปล่า? แล้วถ้าลาจะยังได้รับค่าจ้างในส่วนที่ลาไปหรือไม่? ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาอธิบายให้ผู้อ่านทราบถึงสิทธิของพนักงานในส่วนนี้กันค่ะ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ลากิจและลาป่วย

กรณีที่ 1: การลาป่วย ในช่วงทดลองงาน

ก่อนหน้านี้มักจะมีความเข้าใจผิดว่า ถ้าทดลองงานอยู่ ถึงแม้ลาป่วยก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง เรื่องการเจ็บป่วย ไม่ใช่สิ่งที่เราทุกคนจะอยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง และเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าเราจะป่วยตอนไหน ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพของพนักงาน จึงมีกฎหมายข้อกำหนดมาว่า ให้พนักงานทุกคนมีสิทธิที่จะลาป่วยได้โดยที่ยังได้รับค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 30 วันต่อปี ไม่ว่าจะพนักงานรายวัน พนักงานประจำ หรือพนักงานที่อยู่ในช่วงทดลองงานก็ตาม ถ้าหากเกิน 30 วัน ก็ขึ้นอยู่กับนายจ้างว่าจะพิจารณาจ่ายเงินในส่วนวันที่เกินมาหรือไม่

ช่วงทดลองงาน ลาป่วยได้ไหม

กรณีที่ 2: การลากิจ ในช่วงทดลองงาน

ก่อนหน้านี้ ประเด็นเรื่องการลากิจมักจะมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้มีข้อบังคับที่เกี่ยวกับการลากิจอย่างชัดเจน ส่งผลให้ ลูกจ้างรายวัน หรือระหว่างทดลองงานอาจไม่มีสิทธิลากิจ โดยได้รับค่าจ้างระหว่างลาเพราะในทางปฎิบัติ นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างรายเดือน หรือผ่านการทดลองงานแล้วเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อ ปี 2561 จึงมีการแก้ไขร่างข้อกฎหมายเพิ่มเติม ดังนั้นตามข้อกำหนดล่าสุด จึงให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นโดยได้รับค่าจ้าง อย่างน้อย 3 วันต่อปี หรือนายจ้างจะกำหนดวันลากิจมากกว่า 3 วัน ก็ได้ ส่วนเงื่อนไขของวันลากิจ จะเป็นกิจธุระประเภทใดบ้าง วิธิปฏิบัติในการลา หรือจะกำหนดวันลากิจตามสัดส่วนปีที่ทำงานอย่างไร  ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนายจ้างแต่ละราย ที่จะต้องไปกำหนดกันเอง

ช่วงทดลองงาน ลากิจได้ไหม

เพื่อไม่ให้ผู้อ่านเกิดความสับสนว่า สรุปทั้งปี ฉันลาได้ 3 วันเองเหรอ ถ้าไม่รวมลาป่วย? เราจะขออธิบายเพิ่มเติมให้ผู้อ่านอีกนิด คือ ยังเหลือการลาอีกประเภทหนึ่งที่เรายังไม่ได้พูดถึงนะคะ ซึ่งก็คือ การลาพักร้อน หรือ Annual Leave นั่นเอง ในการลาประเภทนี้ ลูกจ้างที่อยู่ในช่วงทดลองงาน มักจะยังไม่ได้นะคะ ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ลูกจ้างทุกคนสามารถลาได้ ขั้นต่ำ 6 วันต่อปี โดยที่ยังได้รับค่าจ้าง (หรือจะมากกว่า 6 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรจะกำหนด) แต่กฎหมายก็ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ว่าองค์กรสามารถเริ่มให้วันลาพักร้อนพนักงานได้ตั้งแต่ตอนไหน ดังนั้นหลายๆองค์กรจึงเลือกที่จะนำไปปรับใช้กันเองภายใน เพื่อให้เหมาะสมกับบริษัทมากที่สุด ลักษณะนโยบายการลาพักร้อนส่วนใหญ่ที่เราจะพบได้โดยทั่วไป มีอยู่ 2 แบบ คือ

  1. ทำงานครบ 1 ปี ถึงจะได้สิทธิ์ลาพักร้อน
  2. ทำงานจนผ่านทดลองงาน (ผ่านโปร) ถึงจะได้สิทธิ์ลาพักร้อน

สรุป

ระยะเวลาในการทดลองงาน หรือที่เราเรียกว่า Probation Period นั้นเรียกว่าเป็นช่วงระยะเวลาศึกษาดูใจระหว่าง นายจ้างและลูกจ้าง เลยก็ได้ ดังนั้นคำว่านายจ้างและลูกจ้าง ได้เกิดขึ้นแล้วและมีผลตามกฎหมายตั้งแต่วันแรกที่ทั้งสองเริ่มตกลงทำงานด้วยกัน ดังนั้น สิทธิที่พนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ พนักงานรายวัน รวมถึงพนักงานที่กำลังทดลองงาน พึงได้รับ อย่างเช่น สิทธิวันลาป่วยและลากิจนั้น นายจ้างก็ต้องเป็นผู้จัดสรรให้ครบถ้วนตามกฎหมาย

ที่มา: สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published.