fbpx

4 ข้อควรรู้ก่อนยื่นภาษีปี 2567! มือใหม่ต้องอ่าน (ยื่นของปี 2566)

4 ข้อควรรู้ก่อนยื่นภาษี
บทความที่เกี่ยวข้อง: บุคคลธรรมดารายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี? แชร์วิธีคำนวณภาษีพร้อมตัวอย่าง

การยื่นภาษี

          เข้าสู่ปีใหม่ 2567 กันแล้ว หลังจากเพื่อนๆพักผ่อนหย่อนใจ เฉลิมฉลองปีใหม่กันเต็มที่แล้ว ก็อย่ามัวสนุกติดลมกันเพลินจนลืมยื่นภาษีกันด้วยนะ และเพื่อเป็นการย้ำเตือนอีกทีสำหรับหน้าที่ของพลเมืองที่ดี วันนี้เราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษีมาฝากกันค่ะ

1.ต้องยื่นภาษีเมื่อไหร่ 

          โดยปกติแล้วจะต้องมีการยื่นภาษีในระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง  31 มีนาคม ของทุกปี แต่เนื่องจากในปี 2567 วันที่ 31 มีนาคม ตรงกับวันอาทิตย์ ทำให้การยื่นภาษีเลื่อนออกไป 1 วัน เป็นวันที่ 1 เมษายน 2567 และ 9 เมษายน สำหรับการยื่นแบบออนไลน์ แม้ว่ารายได้ต่อปีจะไม่ถึงเกณฑ์การเสียภาษีก็ตาม สำหรับบุคคลธรรมดาจะมีการยื่นภาษีปีละ 1 ครั้ง ในกรณีที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ก็ให้เลือกเป็นการยื่นภาษีโดยใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 แต่ถ้าหากมีรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ร่วมด้วยก็จะต้องใช้แบบฟอร์มการยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90

2.สามารถยื่นภาษีได้ที่ไหน

  • สามารถยื่นภาษีได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาใกล้บ้านได้ทุกแห่ง
  • สำหรับผู้ที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถยื่นภาษีโดยไปรษณีย์ลงทะเบียน พร้อมแนบเช็คได้ทุกประเภท หรือดราฟต์ที่ลงวันที่ในวันยื่นภาษี หรือไม่เกิน 7 วัน
  • สามารถยื่นได้ผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-efiling-web/login ถ้ายังไม่เคยยื่น Online สามารถทำการสมัครสมาชิก ได้เลย หรือยื่นผ่าน RD smart tax Application ทางโทรศัพทมือถือ โดยสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 ได้ถึง 9 เมษายน 2567 (สามารถยื่นได้อีก 8 วัน)
ไม่ยื่นภาษี ผิดกฎหมายไหม
RLC Banner_Payroll

3.ไม่ยื่นภาษีได้ไหม มีความผิดหรือไม่?

สำหรับกรณีที่ไม่ยื่นภาษีแล้วไม่มีความผิด ก็จะมีดังนี้

  • ผู้ที่มีสถานภาพโสดและมีรายได้มาจากเงินเดือนเพียงทางเดียวตลอดทั้งปี ไม่เกิน 120,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท) รวมไปถึงมีรายได้จากทางอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนไม่เกิน 60,000 บาท ต่อปี (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 5,000 บาท)
  • ผู้มีสถานะสมรสตามกฎหมาย และทั้งคู่มีเงินเดือนตลอดทั้งปีรวมกันไม่เกิน 220,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 18,333 บาท) หากไม่มีค่าจ้างหรือว่าเงินเดือนแต่มีรายได้จากทางอื่นตลอดทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท) จะไม่ยื่นภาษีก็ได้
  • กรณีรายได้จากดอกเบี้ยต่าง ๆ เงินปันผล การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีผู้ให้มา กำไรจากการขายตราสารหนี้ สามารถปล่อยให้ภาษีที่ถูกหักณที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายได้เลย

ทั้งนี้ถึงแม้จะมีเงินได้ต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี แต่ก็ควรที่จะทำการยื่นแบบภาษีให้ถูกต้องจะเป็นการดีที่สุด

ในกรณีที่ต้องมีการเสียภาษีแต่ไม่ทำการชำระให้ถูกต้องจะมีความผิดอย่างไรบ้าง?

  • หากไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี (นับเศษของเดือนเป็น 1 เดือน เช่น

ยื่นกระดาษต้องชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ถ้ายื่น online ต้องชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ถ้าเกินวันที่กำหนดจะนับเป็น 1 เดือน)

  • ในกรณีที่ถูกเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก แต่ไม่ได้ทำการยื่นแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีแล้วแต่ชำระภาษีขาด ชำระภาษีต่ำกว่ายอดที่ต้องจ่าย นอกจากจะต้องรับผิดแล้วทำการชำระเงินเพิ่ม ก็ยังจะต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 หรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี
  • ถ้าหากไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90, 91 หรือ 94 ในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท  ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร (ในทางปฏิบัติสามารถขอลดค่าปรับได้ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาท)
  •  ในกรณีที่จงใจแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานเท็จ หรือตั้งใจทำการฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท
  • ในกรณีเจตนาละเลยไม่ทำการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง?

          เราสามารถลดหย่อนภาษีได้จากกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ค่าเบี้ยประกันชีวิต เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบประกันสังคม ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ เงินบริจาค รวมไปถึงการลดหย่อนตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น โครงการช็อปดีมีคืน เป็นต้น โดยเราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของการลดหย่อนภาษีได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/557.html

ลดหย่อนภาษีปี65

สรุป การเสียภาษี vs การลดหย่อน คุ้มหรือไม่

          โดยสรุปแล้วการเสียภาษีโดยที่ไม่ต้องหาตัวเลือกเพื่อช่วยลดหย่อน เมื่อเทียบกับการทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมสรรพากรเพื่อลดหย่อนภาษี แบบไหนคุ้มกว่ากัน ทั้งนี้ก็ต้องดูจากเงินได้และสถานภาพของตนเองเป็นหลัก เพราะการจะได้เงินภาษีคืนมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้และอัตราภาษีที่ต้องจ่ายของแต่ละคน หากไม่แน่ใจว่าตนเองมีรายได้เท่านี้แล้วจะเสียภาษีในอัตราเท่าไหร่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษีปี 2566? วิธีคำนวณภาษีพร้อมตัวอย่าง หากรู้ในส่วนนี้แล้ว เราก็จะพอคำนวณได้คร่าวๆแล้วว่าจะได้รับภาษีคืนหรือไม่ ถ้าหากเป็นคนโสดมีฐานเงินเดือนอยู่ในช่วงที่จ่ายภาษีไม่มากนักก็อาจจะไม่ต้องหาตัวช่วยเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มก็ได้ เพราะนั่นก็คือการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละปีด้วยเช่นกัน และอาจไม่คุ้มกับเงินภาษีที่ได้ลดหย่อน แต่ในกรณีที่มีอายุมากขึ้น มีเงินได้มากขึ้น มีอัตราการจ่ายภาษีที่เพิ่มมากขึ้น การเลือกใช้ตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีก็ดูจะเป็นเรื่องที่คุ้มค่า นอกจากนี้ก็ยังมีค่าลดหย่อนภาษีซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายมอบให้เพิ่มเข้ามาอยู่แล้ว อย่างเช่นการลดหย่อนภาษีคู่สมรส บุตร บิดามารดา เบี้ยประกันชีวิต กองทุนต่าง ๆ เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published.